08 กุมภาพันธ์ 2554

เคยได้ยินไหม? Fake โกหกทั้งเพ ดี-เสีย อย่างไรกัน?

เท่าที่จำได้นั้น Fake เป็นชื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ฉันก็ไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้กำกับและอีกทั้งก็ไม่ได้ดูไม่ได้ติดตาม แต่มันโดนใจจนชวนฉงนตรงที่ว่า โกหกทั้งเพ...
.....หลายมุมมอง หลายความคิด บางคนอาจจะคิดว่า การโกหกเพื่อเอาตัวรอดนั้นคงเป็นเรื่องที่ดี แต่นั่นอาจไม่ถูกต้องเสมอไป มันอาจจะก่อให้เกิดนิสัย habit โกหกจนเราไม่รู้ตัว เกิดการกระทำซ้ำที่เรียกว่า โกหกซ้ำซาก และจะทำให้เราเป็นคนขาดความน่าเชื่อถือจากบุคคลอื่นก็เป็นได้
และถ้ามองย้อนไปในอดีตชนวนที่ก่อให้เกิดสงครามก็มิพ้นการโกหกอีกเช่นกัน นั่นหมายถึง กุเรื่องบ่อนศึกบ่อนไส้ ถ้าใส่ความกันจนระหองระแหงก็เกิดสงครามรุกล้างฆ่าฟัน...ศีลข้อห้าการไม่ดื่มน้ำเมาหรือสุราในศีลห้าตามหลักพระพุทธศาสนานั้นคงมิใช่เป็นศีลที่ถูกผู้คนทำผิดบ่อยที่สุดเสียแล้วหากแต่เป็นศีลข้อสี่ว่าด้วยการไม่โกหกแทนที่
......และที่เกริ่นมานั้นไม่ใช่ประเด็นของเรื่องที่จะพูด แต่ขอพูดในเชิงลักษณะของสังคมวิทยาเรื่องเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์กับการโกหกเพื่อเอาตัวรอดจนเป็นนิสัยเสียมากกว่า ว่า นอกเหนือจากปัจจัยทางกายภาพและชีวภาพแล้ว มนุษย์ยังต้องการปัจจัยภายใน นั่นคือ จิตใจ mental or mind ความรู้สึกคิด รู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูแลและการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคนรวมถึงปัจจัยทางด้านศีลธรรม ซึ่งข้อเท็จจริงที่เป็นข้อพิสูจน์อย่างแน่ชัดยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต่างๆมีแง่คิดและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่างกัน หากพิจารณาตามหัวข้อบทความก็จะเห็นได้ว่า คนเราขาดศีลธรรมบ้างตามธรรมชาติ เพราะในปัจจุบันสังคมโลกาภิวัฒน์ที่ถูกขนานนามว่า "สังคมหน้ากาก"(ตามความคิดผู้เขียน) เพราะว่าสำนวนที่เราฟังจนชินหูว่า "รู้หน้ามิรู้ใจ"นั้นยังมิเสื่อมคลายลงนั่นเอง เพราะตามหลักสังคมแล้ว มนุษย์โดยธรรมชาติต้องการความอยู่รอดและการเอาตัวรอดของมนุษย์เป็นเหตุผลที่ทำให้นักสังคมวิทยาหรือนักปราชญ์บางท่านสรุปแง่คิดได้ว่า "มนุษย์ทุกคนมีความเห็นแก่ตัวและรักตัวเอง" แต่ไฉนเล่าตามหลักศาสนายังสอนมิให้คนเราโกหก การโกหกเพื่อให้คนอื่นสบายใจ การโกหกเพื่อเอาตัวรอดนั้น จะถือเป็นเรื่องผิดศาสนาหรือไม่ นั่นยังไม่มีผลสรุปออกมา
..... "เสแสร้ง แกล้งทำ สำออย" คำส่อเสียดค่อนแกมอารมณ์หุนหัน ที่ใครหลายคนหลุดต่อว่าใครอีกคนที่กระทำหรือไม่กระทำดังที่พูด มันคงจะสอดคล้องกับเรื่องโกหกได้เป็นอย่างดี ไม่รู้ว่าทำไมคนเราสามารถในเรื่องนี้กันดีจริงๆ นั่นคือเรื่อง โกหก เช่น บางคน "ปั้นน้ำได้เป็นตัว" บางคนก็กุเรื่องได้เป็นเรื่อง สร้างเรื่องได้เป็นเรื่อง หากเปรียบกับการสร้างบ้าน ก็คงสร้างบ้านได้เป็นหลัง แยบคายจนแก้ปมปริศนาไม่ออก ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดและซับซ้อนยากแก่การค้นหานัก แต่หากถามในเรื่องเหตุผลว่าทำไมถึงโกหกนั้นคงมิพ้นเรื่องการดำรงชีวิตและเอาตัวรอดในสังคมหรอก เรื่องทั้งหมดนี้รวมไปถึงเรื่องปัจจัยภายในที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า มนุษย์มีความต้องการทางจิตใจ ความรักความเอาใจใส่ ถ้าการโกหกทำให้ต้องสูญเสียอะไรบางอย่าง หรือทำให้บางอย่างสูยหายไป จะเป็นไปได้ไหม? ถ้าใครคนนั้นที่เจอกับเหตุการณ์ที่จะต้องสูญเสีย "ไม่โกหก" คำตอบคือ เป็นไปได้ยากมาก เพราะว่ามนุษย์ถูกเครื่องมือที่ชื่อว่า "โกหก" กระทำการครอบงำจิตใต้สำนึก unconscious ไปเสียแล้ว
.......มองย้อนกลับไปถึงตัวบุคคลแต่ละคนนั้นยากมากที่จะได้คำตอบที่ชัดแจ้ง แต่หลายๆประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น ถือว่าการโกหกเป็นเรื่องที่นำมาสู่ความล้มเหลว เป็นตัวนำพาการคอรัปชั่น อัตราความโปร่งใสก็จะน้อยลง เพราะเมื่อเริ่มจากสิ่งเล็กๆก็จะลามไปจนเป็นสิ่งใหญ่ เป็นปัญหาระดับชาติ เมื่อการโกหกเสแสร้งแกล้งทำมาจากการกระทำหรือการพูดของบุคคลผู้มีความสามารถหรือผู้นำ หรือแม้กระทั่งผู้มีปัญญาก็ตาม
ปัญหาเรื้อรังแรมปีจนนับเกือบศตวรรษนี้ยังแก้ไขมิได้ จนต้องถึงขนาดนำมาปรับใช้หรือบังคับเป็นเฉพาะๆเรื่อง แม้ในกฎหมายเอง ดังเช่นในกฎหมายประกันภัย เหตุใดทำไมกฎหมายประกันภัยจึงต้องการหลักสุจริตอย่างยิ่ง สังเกตคำว่าอย่างยิ่ง ซึ่งแตกต่างจากหลักสุจริตโดยทั่วๆไป กล่าวคือ ตามหลักกฎหมายประกันภัย ผู้เอาประกันภัยต้องแถลงข้อเท็จจริงทุกประการในการเข้าทำสัญญาประกันภัย และขณะเดียวกันผู้รับประกันภัยก็ต้องบอกกล่าวข้อเท็จจริงแก่ผู้ทำสัญญาด้วย หากเกิดข้อพิพาทกันขึ้นก็จะง่ายแก่การเข้าใจทั้งสองฝ่ายและการฟ้องร้องบังคับคดีก็จะไม่ยืดเยื้อหาความจริงกัน อีกตัวอย่างก็อย่างเช่นในกฎหมายอาญาของไทย ความผิดในลักษณะการกระทำเท็จก็มีเหมือนกันเช่น การฟ้องเท็จ การแจ้งความเท็จ ฯการกระทำเหล่านี้ส่อแววโกหกแล้ว และเป็นเหตทำให้เกิดการทุจริตในที่สุด ถามว่า ทำไมถึงมีการบัญญัติว่าการกระทำเหล่านี้เป็นความผิด ผู้ร่างกฎหมายคงจะมองว่า โดยปกติคนเราจะห้ามมิให้ใครโกหกก็เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว หากมิบัญญัติว่าเป็นความผิด คนเราก็จะประพฤติปฎิบัติกันแบบนั้น และอาจก่อความไม่สงบวุ่นวายในสังคมได้ การแก่งแย่งชิงดีก็จะเกิดขึ้นมาก เพราะต่างฝ่ายต่างไม่สุจริตต่อกัน หาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ไม่ จึงเป็นหลักสำคัญในการนำมาพิจารณาความคิดของคนเราว่า เมื่อคนเราบริสุทธิ์ใจต่อกัน แถลงข้อความจริงสำคัญบางเรื่องอันมิใช่เรื่องส่วนตัวหรือเรื่องน่าอับอายให้แก่กันนั้น เป็นสิ่งที่ดี และประสิทธิภาพเสถียรภาพความเป็นมนุษย์ก็จะดำรงอยู่ยาวนาน สามัคคีสมัครสมาน หันหน้าเข้าหากันแบบมิต้องซ่อนดาบซ่อนมีดไว้ข้างหลัง ให้เห็นรูปโฉมอันงดงามอ่อนโยนที่แท้จริง มิใช่แค่ภายนอกแต่มาจากภายใน ดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรม ละเว้นการทำชั่ว หลีกเลี่ยงการโกหกอันเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลห้านั้น เพียงแค่นี้ก็จะทำให้อะไรๆต่างๆดีขึ้นเอง


บทความโดย...ภุมริน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น